วันอาทิตย์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

บทร้อยกรอง

คณะ คือ ข้อกำหนดเกี่ยวกับรูปแบบของร้อยกรองแต่ละประเภทว่าจะต้องประกอบด้วยส่วนย่อยคืออะไรบ้าง มีจำนวนเท่าใด
คำที่เป็นส่วนย่อยของคณะได้แก่ บท บาท วรรค คำ ดังตัวอย่าง

คณะของกาพย์สุรางคนางค์ มีดังนี้
กาพย์สุรางคนางค์ ๑ บท มีบาทเดียว๑ ซึ่งมี ๗ วรรคด้วยกัน วรรคหนึ่ง ๆ มี ๔ คำ รวม ๗ วรรค มี ๒๘ คำ จึงเรียกว่า กาพย์สุรางคนางค์ ๒๘

คณะของกาพย์ยานี ๑๑ มีดังนี้
กาพย์ยานี ๑ บท มี ๒ บาท๒ บาทต้นเรียกว่าบาทเอก บาทท้ายเรียกว่าบาทโท บาทหนึ่งมี ๒ วรรค วรรคหน้ามี ๕ คำ วรรคหลังมี ๖ คำ รวมบาทหนึ่งเป็น๑๑ คำ เท่ากันทั้ง ๒ บาท ดังนั้นจึงเรียกว่า กาพย์ยานี ๑๑
ลักษณะบังคับข้อนี้สำคัญมาก ร้อยกรองทุกประเภทจะต้องมีคณะ คณะช่วยกำหนดรูปแบบของร้อยกรองแต่ละประเภท แต่ละชนิดให้เป็นระเบียบ เพื่อใช้เป็นหลักในการแต่งต่อไป



พยางค์
ในการแต่งร้อยกรองเราถือว่าพยางค์ ก็คือคำนั่นเอง ร้อยกรองแต่ละชนิดจะมีการกำหนดไว้แน่นอนว่า วรรคหนึ่งมีกี่พยางค์ ในร้อยกรองประเภทฉันท์ มีการกำหนดพยางค์เคร่งครัดกว่าร้อยกรองประเภทอื่น ๆ กล่าวคือ พยางค์ หมายถึงเสียงที่เปล่งออกมาครั้งหนึ่ง ๆ บางทีก็มีความหมายต่าง ๆ เช่น มี น้ำ ใน นา แต่บางทีบางพยางค์ก็ไม่มีความหมาย เช่นคำว่า กุสุมา ถือว่ามี ๓ พยางค์ อ่าน กุ-สุ-มา สรณ - อ่าน สะ-ระ-นะในที่ที่ต้องการลหุ ก็ถือว่ามี ๓ พยางค์ ฉะนั้นผู้แต่งต้องใช้ความสังเกตให้ดีเมื่อจะนับพยางค์ในฉันท์



สัมผัส

สัมผัส คือ ลักษณะที่บังคับให้ใช้คำที่มีเสียงสัมผัสคล้องจองกัน สัมผัสเป็นลักษณะที่สำคัญมากในร้อยกรองของไทย คำประพันธ์ทุกชนิดต้องมีสัมผัส ชนิดของสัมผัสที่ควรรู้จัก ได้แก่

คู่ที่ ๑ ก.สัมผัสสระ ข.สัมผัสอักษร
คู่ที่ ๒ ก.สัมผัสนอก ข.สัมผัสใน

สัมผัสทั้ง ๒ คู่นี้ สัมพันธ์เกี่ยวข้องกันดังนี้
คู่ที่ ๑
ก. สัมผัสสระ ได้แก่ คำตั้งแต่ ๒ คำขึ้นไป ที่มีเสียงสระพ้องกัน หรือคล้องจองกันตามมาตรา ถ้าเป็นคำที่มีตัวสะกดก็ต้องเป็นตัวสะกดในมาตราเดียวกันดังตัวอย่าง
ปะ สัมผัสกับ มะ พะ ระ
ดี สัมผัสกับ ปี มี ศรี
กิจ สัมผัสกับ คิด มิตร ฤทธิ์
นาง สัมผัสกับ บาง กลาง ล้าง
กุน สัมผัสกับ คุณ บุญ หนุน
ข้อควรระวัง
ไม่ควรใช้สระเสียงสั้นสัมผัสกับสระเสียงยาว เช่น
นัย ไม่สัมผัสกับ ราย พาย วาย
จันทร์ ไม่สัมผัสกับ กาล วาร สาน

ข. สัมผัสอักษร ได้แก่ คำที่ใช้พยัญชนะต้นเสียงเดียวกัน อาจเป็นพยัญชนะตัวเดียวกัน หรือเป็นพยัญชนะเสียงสูงต่ำเข้าคู่กันก็ได้ (เช่น ข-ค, ส-ซ, ฉ-ช) หรือพยัญชนะควบชุดเดียวกันก็ได้ (เช่น กร ตร ปล พล) ดังตัวอย่าง
คำ สัมผัสอักษรกับ คู่ คอ แคน ขัน ฆ้อง
ชี้ สัมผัสอักษรกับ ชน ชาม เชิญ ฉาย เฌอ
ตรา สัมผัสอักษรกับ ตรู ตริ ตรอง ไตร ตรุษ
ปลุก สัมผัสอักษรกับ ปลอบ เปลี่ยน ปลาย ปลิด เปลว
ขวัญ สัมผัสอักษรกับ ขวา แขวน ควัน ความ แคว้น

คู่ที่ ๒
ค. สัมผัสนอก เป็นสัมผัส บังคับ ได้แก่ สัมผัสที่ส่งและรับกันนอกวรรคเช่น ในกลอนแปด กาพย์ยานี และโคลงสี่สุภาพ ต่อไปนี้ได้โยงเส้นสัมผัสไว้ให้ดูในแต่ละบทแล้ว
ง. สัมผัสใน เป็นสัมผัส ไม่บังคับ มีคำที่สัมผัสคล้องจองกันอยู่ภายในวรรคเดียวกัน อาจเป็นสัมผัสสระ หรือสัมผัสอักษรก็ได้ แล้วแต่ความเหมาะสมและความพอใจของผู้แต่ง สัมผัสในช่วยให้บทร้อยกรองไพเราะขึ้น




สัมผัสนอก : กลอนแปด



สัมผัสนอก : กาพย์ยานี ๑๑



คำครุ ลหุ
คำครุ ลหุ นี้ เป็นคำที่บังคับใช้เฉพาะร้อยกรองประเภทฉันท์เท่านั้นเครื่องหมายที่ใช้แทนคำครุ มีลักษณะเหมือนไม้หันอากาศ คือ ั ส่วนเครื่องหมายที่ใช้แทนคำลหุ มีลักษณะเหมือนสระอุ คือ

คำครุ ( ั ) เป็นคำที่มีเสียงหนัก ได้แก่ คำทุกคำที่ประสมกับสระเสียงยาวในแม่ ก กา เช่น งา ชี้ สู้ แล้ ห่อ และคำที่ประสมกับสระเสียงสั้นก็ได้เสียงยาวก็ได้และมีตัวสะกดด้วย เช่น ขม คิด นึก ปาน โชค เล็บ นอกจากนั้นคำที่ประสมกับสระอำ ไอ ใอ เอา ซึ่งถือว่าเป็นเสียงมีตัวสะกด ก็จัดเป็นคำครุเช่นเดียวกัน

คำลหุ ( ุ ) เป็นคำที่มีเสียงเบา ได้แก่ คำที่ประสมกับสระเสียงสั้นในแม่ ก กาเช่น จะ มิ ปุ และคำที่เป็นพยัญชนะตัวเดียว (ไม่มีรูปสระ) เช่นคำ ก็ ณ ธ บ่ บางทีเมื่อมีพยัญชนะ ๒ ตัวเรียงอยู่ด้วยกัน ก็จะอ่านออกเสียงสั้นเป็นลหุทั้ง ๒ ตัว เช่นจร (อ่าน จะ-ระ) มน (อ่าน มะ-นะ) พล (อ่าน พะ-ละ) วร (อ่าน วะ-ระ) ในที่ที่ต้องการลหุ ดังตัวอย่าง



อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑



คำเอก คำโท
คำเอกและคำโทนี้ใช้กับบทร้อยกรองประเภทโคลงและร่ายเท่านั้น มีข้อกำหนดดังนี้

คำเอก
ก. ได้แก่คำหรือพยางค์ที่มีไม้เอกบังคับทั้งหมดไม่ว่าพยัญชนะต้นของคำนั้นหรือพยางค์นั้นจะเป็นอักษรกลาง อักษรสูง หรืออักษรต่ำ เช่น ก่อ จ่ายดิ่ง ปู่, ข่า ฉ่ำ สุ่ม ห่าง, คู่ ง่าย ใช่ โล่ ฯลฯ
ข. ได้แก่คำหรือพยางค์ที่เป็นคำตายทั้งหมด จะเป็นเสียงวรรณยุกต์ใดก็ได้ ดังตัวอย่าง
- คำตายที่เป็นเสียงวรรณยุกต์เอก เช่น จาก ตัด แปลบ บาด ฯลฯ
- คำตายที่เป็นเสียงวรรณยุกต์โท เช่น คาด เชษฐ์ แพรก โลภ ฯลฯ
- คำตายที่เป็นเสียงวรรณยุกต์ตรี เช่น คิด เงาะ นับ เพชร ฯลฯ
ค.คำที่ไม่เคยใช้ไม้เอกเลย แต่นำมาแปลงใช้โดยเปลี่ยนพยัญชนะต้นและใช้วรรณยุกต์เอกบังคับ เช่น ไข้ เป็น ไค่, ถ้ำ เป็น ท่ำ, แผ้ว เป็น แพ่ว เช่นนี้ก็อนุโลมให้เป็นคำเอกได้ แต่เรียกว่า เอกโทษ

คำโท
ก. ได้แก่คำหรือพยางค์ที่มีไม้โทบังคับทั้งหมด ไม่ว่าพยัญชนะต้นจะเป็นอักษรกลาง อักษรสูง หรืออักษรต่ำ ดังตัวอย่าง
- คำโทที่เป็นเสียงวรรณยุกต์โท เช่น กล้า ได้ ปั้น ข้อ ถ้วย หล้า ฯลฯ
- คำโทที่เป็นเสียงวรรณยุกต์ตรี เช่น ค้ำ นั้น พร้อม เฮ้ย ฯลฯ
ข.คำที่ไม่เคยใช้ไม้โท แต่นำมาแปลงใช้โดยเปลี่ยนพยัญชนะต้นและใช้วรรณยุกต์โทบังคับ เช่น คู่ เป็น ขู้, ง่อย เป็น หง้อย, เม่น เป็น เหม้น, ย่อมเป็น หย้อม ฯลฯ เช่นนี้ก็อนุโลมให้เป็นคำโทได้ แต่เรียกว่า โทโทษ

ส่วนร่าย ที่ว่ามีการบังคับคำเอก คำโทนั้น หมายถึงเฉพาะตอนท้ายของร่ายแต่ละบทซึ่งจบด้วยโคลงสอง คำเอกและคำโทที่บังคับใช้อยู่เฉพาะส่วนที่เป็นโคลงสอง เท่านั้น



คำเป็น คำตาย
คำเป็น คำตายในที่นี้มีความหมายเช่นเดียวกับที่กล่าวไว้ในตำราอักขรวิธีนั่นเอง อาจสังเกตคำเป็น คำตาย ได้ดังนี้

คำเป็น
ก. ได้แก่พยางค์เสียงยาวในมาตรา ก กา เช่น จ้อ ปู่ อา ฯลฯกับพยางค์ที่ประสมสระ อำ ไอ ใอ เอา เช่น ดำ ใบ ไม่ สำ ฯลฯ
ข. ได้แก่พยางค์ที่มีตัวสะกดในมาตรา กง กน กม เกย เกอว เช่น กรง ขัน คราม ง่อย โจร ปีน ราว ฯลฯ

คำตาย
ก. ได้แก่คำหรือพยางค์เสียงสั้นในมาตรา ก กา เช่น จะ ติ บ่ ฯลฯ
ข. ได้แก่คำหรือพยางค์ที่มีตัวสะกดในมาตรา กก กด กบ เช่น กาก จุก ปิด ตรวจ พบ ลาภ ฯลฯ

หมายเหตุ คำตายนี้ใช้แทนคำเอกในโคลงได้ (ดูข้อ ๕ คำเอก คำโท)
ในกลอนกลบทบางชนิด เช่น บทที่มีชื่อว่า "อักษรกลอนตาย" ก็ใช้คำตาล้วน ดังตัวอย่าง



อักษรกลอนตาย



เสียงวรรณยุกต์

เสียงวรรณยุกต์ หมายถึง คำที่มีเสียง ๕ เสียงตามอักขรวิธี เสียงวรรณยุกต์นี้เป็นลักษณะสำคัญที่บังคับใช้ใน กลอน และ กาพย์บางชนิด จึงควรศึกษาให้รู้จักเสียงวรรณยุกต์ทุกเสียงอย่างแม่นยำ เพื่อจะได้สามารถใช้ได้อย่างถูกต้อง

หมายเหตุ : เสียงวรรณยุกต์ที่เป็นข้อห้ามในกลอนมีอยู่บางเสียง ดังนี้
๑) คำสุดท้ายของวรรครับ ห้ามใช้เสียงสามัญ เสียงตรี
๒) คำสุดท้ายของวรรคส่ง ห้ามใช้เสียงจัตวา แม้เสียงเอก เสียงโท ก็ไม่นิยมใช้ (ดูรายละเอียดในหัวข้อที่ว่าด้วยการแต่งกลอน) เสียงที่ใช้ได้ คือ เสียงสามัญและเสียงตรี

ส่วนกาพย์ยานีนั้น คำสุดท้ายของวรรคหลังของบาทโท ส่วนมากนิยมใช้วรรณยุกต์เสียงสามัญและเสียงจัตวา มีที่ใช้เป็นคำตายเสียงตรีอยู่บ้าง เสียงเอกและเสียงโทไม่ค่อยมีผู้นิยมใช้เป็นคำสุดท้ายของวรรค





คำนำ
คำนำในร้อยกรองหมายถึง คำที่ใช้ขึ้นต้นสำหรับร้อยกรองบางชนิด เช่น กลอนบทละคร ขึ้นต้นด้วยคำต่อไปนี้ : มาจะกล่าวบทไป เมื่อนั้น บัดนั้น ฯลฯ ดังตัวอย่าง
น่าสังเกตว่า "มาจะกล่าวบทไป" ใช้เมื่อเริ่มเล่าเรื่อง "เมื่อนั้น" ใช้เมื่อกล่าวถึงผู้เป็นใหญ่ "บัดนั้น" ใช้เมื่อกล่าวถึงผู้น้อย
กลอนบทดอกสร้อย มักขึ้นต้นด้วย วรรคแรกสี่คำ คำที่สองต้องเป็น "เอ๋ย"คำที่ ๑ กับคำที่ ๓ ซ้ำคำเดียวกัน คำที่ ๔ เป็นคำอื่นที่มีความหมายรับกัน วรรคสุดท้ายของบทที่ ๒ ต้องลงท้ายด้วยคำ "เอย"



กลอนบทละคร



คำสร้อย
คำสร้อยเป็นคำที่ใช้เติมลงท้ายวรรคบ้าง ท้ายบาทบ้าง ท้ายบทบ้าง เพื่อความไพเราะ หรือเพื่อทำให้ข้อความสมบูรณ์ ดังตัวอย่างคำสร้อยในโคลงสอง ของลิลิตพระลอ และคำสร้อยในโคลงสองท้ายบทร่าย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น